วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

   
 ทะเลแหวก






จะว่าไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามองเห็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เกิดขึ้นจากความอัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่สรรค์สร้างขึ้นมาให้เห็นและเป็นอยู่ แม้ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่องในเมืองคอนกรีต ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นดินที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้นเช่นกัน แบบนี้ก็ชี้ให้ชัดได้แล้วว่า ธรรมชาตินั้นมีความสามารถสูงส่งเพียงใด
       
       หรืออย่างผืนทรายใต้น้ำทะเล ที่บางครั้งก็โผล่ขึ้นมาให้ได้ชมกันยามน้ำลด บางแห่งก็ทอดตัวเป็นเส้นทางยาวจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง เคียงคู่ไปกับผืนน้ำ ดังเช่น “ทะเลแหวก” ในหลายแห่งของเมืองไทย และความน่าพิศวงนี้ก็เป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้าไปดูให้เห็นกับตาว่า “ทะเลแหวก” นั้นเป็นเช่นไร
 ทะเลแหวกเกาะไก่ จ.กระบี่
       ทะเลแหวกชื่อดัง หนึ่งในอันซีนไทยแลนด์เมื่อปี พ.ศ.2546 ความน่าสนใจและน่าอัศจรรย์ใจอยู่ที่เมื่อยามน้ำทะเลลดต่ำลง สันทรายที่ทอดยาวก็จะปรากฏขึ้น กลายเป็นสะพานทรายทอดยาวเชื่อมเกาะ 3 เกาะเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ เกาะไก่ เกาะหม้อ และเกาะทับ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเกาะปอดะ
      
       ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการไปเดินทอดน่องบนสันทรายขาวเนียนกลางทะเลก็ คือ ช่วงเวลาที่น้ำลงต่ำสุดในแต่ละวัน โดยเฉพาะวันก่อนและหลังวันขึ้น 15 ค่ำ ประมาณ 5 วัน และช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการไปท่องเที่ยวก็คือ ระหว่างเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม








 ทะลแหวกเกาะนางยวน จ.สุราษฎร์ธานี
       เกาะนางยวนนั้นตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเกาะเต่า บริเวณทะเลฝั่งอ่าวไทย และก็เป็นหนึ่งในความน่าอัศจรรย์ของเมืองไทยตรงที่มีทะเลแหวกเชื่อมต่อ ระหว่าง 3 เกาะ เป็นสันทรายสีขาวสะอาดเชื่อมต่อเกาะใหญ่และเกาะเล็กๆ อีก 2 เกาะไว้ด้วยกันตลอดเวลา
      
       ความงามของเกาะเล็กๆ อย่างเกาะนางยวนนั้น ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยติดอันดับโลก และยังมีโลกใต้ทะเลที่สวยงามให้ลงไปสัมผัสและแหวกว่าย นักท่องเที่ยวที่มาถึงเกาะเต่าแล้ว ก็มักจะไม่พลาดที่จะมายลความงามของทะเลแหวก ณ เกาะนางยวนแห่งนี้
 



ทะเลแหวกเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี
       ถ้าพูดถึงเกาะพงัน สิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ ฟูลมูนปาร์ตี้ ฮาร์ฟมูนปาร์ตี้ และปาร์ตี้อื่นๆ ท่ามกลางแสงจันทร์ ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยมอย่างมาก แต่นอกเหนือจากความอึกทึกคึกโครมของปาร์ตี้ต่างๆ แล้ว ความสงบงามของธรรมชาติของทะเลไทยก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน
      
       ทะเลแหวกของเกาะพงันนั้น จะอยู่ที่อ่าวแม่หาด ซึ่งสันทรายทะเลแหวกจะเชื่อมต่อกับเกาะม้า สามารถเดินข้ามไปเดินเล่นบนเกาะม้า ดูโขดหิน หาที่นอนอาบแดด หรือนั่งตกปลาเงียบๆ ก็ยังได้ ถ้ามาในช่วงที่น้ำลง ก็จะเห็นเป็นสันทรายเชื่อมเกาะธรรมดา แต่หากมาในช่วงเหมาะ น้ำขึ้นสูงพอปริ่มๆ สันทราย แล้วลงไปเดินลุยเล่นๆ ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าลองเมื่อมาเที่ยวเกาะพงัน
  

 ทะเลแหวกเกาะพิทักษ์ จ.ชุมพร
       เกาะพิทักษ์ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งมากนัก ยามที่น้ำลดจึงเกิดปรากฏการณ์ทะเลแหวกให้ได้เห็น สันทรายที่เห็นอยู่บริเวณหน้าเกาะจะเชื่อมกับชายฝั่ง แต่หากน้ำทะเลลดลงมากๆ ทะเลแหวกก็จะทอดยาวไปถึงฝั่งหลังสวน บริเวณอ่าวท้องครก จนสามารถเดินข้ามฝั่งได้อย่างสบาย
      
       ทะเลแหวกที่นี่ไม่ได้สวยงามขาวละเอียดเหมือนที่อื่น แต่ก็มีเสน่ห์ตรงวิถีชีวิตชาวบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป อย่างเช่นช่วงที่น้ำลด ก็จะมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมาหาหอยบริเวณทะเลแหวก หรือหากต้องการข้ามมายังฝั่งเกาะพิทักษ์ ยามปกติก็จะต้องอาศัยเรือ แต่หากน้ำลดก็สามารถเดินข้ามมาได้เลย และยังมีเสาไฟฟ้าที่ทอดยาวคู่ขนานไปกับแนวสันทราย นำไฟฟ้าจากฝั่งเชื่อมไปยังผู้คนบนเกาะด้วย
      
       อีกสิ่งที่ทะเลแหวกเกาะพิทักษ์ไม่เหมือนใคร ก็คือกิจกรรมการวิ่งทะเลแหวกจากฝั่งข้ามไปยังเกาะพิทักษ์ ระยะทาง 14 กิโลเมตร เริ่มจากเรือจำลองจักรีนฤเบศร ปากน้ำหลังสวน ใช้เส้นทางเลียบชายทะเลและเข้าสู่เส้นชัยที่เกาะพิทักษ์ ซึ่งกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี


ทะเลแหวกอ่าวลึก จ.กระบี่
       ทะเลแหวกอ่าวลึก อยู่ในพื้นที่ของ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ แม้จะไม่สวยงามเหมือนหาดทรายขาวเนียนละเอียดในที่อื่นๆ แต่ก็ทรงเสน่ห์ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของกุ้งหอยปูปลา และเหตุที่เรียกอ่าวลึก ก็ไม่ใช่เพราะว่าเป็นทะเลน้ำลึก แต่เพราะที่ อ.อ่าวลึก มีพื้นที่อ่าวยื่นลึกกินแผ่นดินเข้ามา
       
       ส่วนทะเลแหวกที่อ่าวลึก หรือที่เรียกกันว่า ทะเลแหวกสวนหินเซ็น จะเกิดเมื่อขึ้นน้ำลดระดับลงจนสุด จะเกิดแนวสันทรายและแนวหินโสโครกเล็กๆ ผุดขึ้นมาเห็นเป็นทรงรูปขวานคล้ายแผนที่ประเทศไทย โดยแนวสันทรายจะอยู่ที่ด้ามขวาน ส่วนใบขวานจะเป็นแนวโขดหินและสันทราย โดยรูปทรงจะเปลี่ยนไปตามจังหวะที่น้ำขึ้น-ลง และกระแสน้ำที่พัดผ่านสันทราย


ทะเลแหวกหาดมังกร จ.สตูล
  “หาดมังกร” เป็นชื่อที่ชาวชุมชนตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล เรียกขานเกาะแห่งหนึ่งที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์กลางทะเลอันดามัน เพราะเมื่อยามน้ำทะเลลดลง ก็จะปรากฏสันทรายโผล่ขึ้นมาเป็นเส้นทางคดเคี้ยวยาวกว่า 3 กิโลเมตร และยังสามารถเชื่อมไปยังอีกเกาะหนึ่งได้ และบนสันทรายนั้นก็เต็มไปด้วยซากเปลือกหอยหลายล้านตัวทับถมกันอยู่ และที่มาของชื่อหาดมังกรก็คือ สันทรายที่เปรียบเสมือนมังกรถลาลงเล่นน้ำ ให้เราได้เดินเล่นอยู่บนสันหลังมังกรที่พลิ้วไหวงดงาม
      
       ปรากฏการณ์ทะเลแหวกนี้ มิใช่ว่าจะหาดูได้ง่ายๆ ต้องตั้งใจไปให้ถึงที่ ในช่วงวันและเวลาที่เหมาะสม ความน่าอัศจรรย์แบบนี้จึงจะปรากฏขึ้นให้เป็นที่ประทับใจไปอีกแสนนาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น